วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

วันตรุษจีน

 


          ตรุษจีน เป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดของจีน เพราะชาวจีนถือว่า วันตรุษจีน คือวันขึ้นปีใหม่ตามปฎิทินจีน เช่นเดียวกับสงกรานต์วันปีใหม่ไทย ดังนั้นชาวจีนจึงให้ความสำคัญกับเทศกาลนี้เป็นอย่างยิ่ง และมีการเฉลิมฉลองทั่วโลกโดยเฉพาะชุมชนขนาดใหญ่ของคนเชื้อสายจีน ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็จะมีพิธีเฉลิมฉลองแตกต่างกันไป
          สำหรับที่มาของ วันตรุษจีน นั้น เชื่อกันว่าประเพณีนี้มีมานานกว่าสี่พันปีแล้ว จัดขึ้นเพื่อฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ เดิมที่ไม่ได้เรียกว่าเทศกาลตรุษจีน แต่มีชื่อเรียกต่างกันตามยุคสมัย นั่นคือเมื่อ 2100 ปีก่อนคริสตศักราชจะเรียกว่า "ซุ่ย" ซึ่งมีความหมายถึงการโคจรครบหนึ่งรอบของดาวจูปิเตอร์ จนกระทั่งต่อมาในยุค 1000 กว่าปีก่อนคริสตศักราช เทศกาลตรุษจีนจะถูกเรียกว่า "เหนียน" หมายถึงการเก็บเกี่ยวได้ผลอุดมสมบูรณ์นั่นเอง


นอกจากนี้ วันตรุษจีน ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันชุงเจ๋" ซึ่งหมายถึงเทศกาลดูใบไม้ผลิ หรือขึ้นปีเพาะปลูกใหม่ เพราะช่วงก่อนตรุษจีนนั้นตรงกับฤดูหนาว ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิที่มีอากาศเหมาะสมแก่การเพาะปลูก ชาวจีนจึงสามารถทำนา ทำสวน ได้อีกครั้งหลังจากผ่านพ้นฤดูหนาวมานั่นเอง

         
ส่วนการกำหนด วันตรุษจีน นั้น ตามประเพณีเทศกาลตรุษจีนจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติของจีน และถือว่าคืนวันที่ 30 เดือน 12 เป็นวันส่งท้ายปีเก่า ส่วนวันที่ 1 เดือน 1 คือวันชิวอิก หมายถึงวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ





การเตรียมงานเพื่อการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนนั้น จะเริ่มขึ้นตั้งแต่หนึ่งเดือนก่อน วันตรุษจีน (คล้ายกับวัน คริสต์มาสของประเทศตะวันตก) โดยผู้คนจะเริ่มซื้อข้าวของต่างๆ เพื่อประดับตกแต่งบ้านเรือน และเตรียมทำความสะอาดครั้งใหญ่ ตั้งแต่ชั้นบนลงชั้นล่าง เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะเป็นการปัดกวาดสิ่งที่ไม่ดีออกไป ภายในบ้านทั้งประตู หน้าต่าง จะประดับประดาไปด้วยสีแดง และกระดาษสีแดงที่มีคำอวยพรให้อายุยืน ร่ำรวย อยู่ดีมีสุข ฯลฯ

          จากนั้นครอบครัวจะร่วมรับประทานอาหารที่ล้วนแต่มีความหมายมงคลทั้งสิ้น เช่น กุ้งจะหมายถึงชีวิตที่รุ่งเรืองและความสุข เป๋าฮื้อแห้งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี สลัดปลาสดจะนำมาซึ่งความโชคดี จี้ไช่ (ผมเทวดา) สาหร่าย จะนำความร่ำรวยมาให้ และขนมต้ม (Jiaozi) หมายถึงบรรพชนอวยพร หลังจากทานอาหารค่ำแล้ว ทุกคนในครอบครัวจะนั่งกันจนเช้าเพื่อรอวันใหม่โดยการเล่นเกม เล่นไพ่ หรือดูรายการทีวีที่เกี่ยวกับ วันตรุษจีน และในวันนี้จะต้องไม่โกรธ ริษยา หรือ ไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง

 

 










วันกองทัพไทย




วันกองทัพไทย


ในปีพุทธศักราช 2502 กระทรวงกลาโหมได้กำหนดให้วันที่ 8 เมษายน ซึ่งเป็นคล้ายวันสถาปนากระทรวงกลาโหม เป็นวันกองทัพไทย ครั้นต่อมาเมื่อ พ.ศ.2522 สมัยที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เห็นว่าวันกองทัพไทยควรเป็นวันที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่แสดงถึงความกล้าหาญและเสียสละ จึงได้กำหนดเอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีได้รับชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา เป็นวันกองทัพไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 25 มกราคม ของทุกปี
         วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถี กับพระมหาอุปราชาแม่ทัพพม่า ซึ่งตรงกับวันเดือนปีของจันทรคติ คือวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง ทั้งนี้ได้มีผู้คำนวณไว้ว่าตรงกับวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2136
         คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2523 กำหนดให้วันที่ 25 มกราคม ของทุกปี เป็นวันกองทัพไทย และอนุมัติให้เป็นวันหยุดราชการของกระทรวงกลาโหม โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 เป็นต้นมา
         พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ ซึ่งอดีตท่านเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขและคณะกรรมการที่ปรึกษาอีกหลายหน่วยงาน ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิพระดาบส ได้พบความคลาดเคลื่อนของวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถี และวันที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงปราบดาภิเษก จึงได้มีหนังสือพร้อมข้อมูลของวันกองทัพไทย เสนอไปสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กราบเรียนนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2539 เพื่อขอให้พิจารณาแก้ไข วันสำคัญทางประวัติศาสตร์ ของชาติไทยที่คลาดเคลื่อนให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทย 2 เรื่องคือ
         1. วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถี กับพระมหาอุปราชา หรือ “วันกองทัพไทย” ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ คือวันที่ 25 มกราคม ที่ถูกต้องคือ วันที่ 18 มกราคม



ภารกิจที่สำคัญของกองทัพไทย

คือ การป้องกันราชอาณาจักรจากการรุกรานจากภายนอกประเทศ ที่มีการวางแผน และปรับปรุงกันเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงด้าน การพัฒนากำลังพล การพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ การรักษาความมั่นคงและความปลอดภัยภายในประเทศ และการพัฒนาประเทศ และการดำเนินการ สนองนโยบายของรัฐบาล การปฏิบัติงานตามแนวทางพระราชดำริ
         การกำหนดให้มีวันกองทัพไทยก็เพื่อ ดำรงความุ่งหมายที่จะรักษาไว้ซึ่งความหมาย อันสำคัญยิ่ง ให้ทหาร ทั้งสามเหล่าทัพ ระลึกถึงด้วยความภาคภูมิใจ เกิดความรัก ความสามัคคี หวงแหน ชาติ บ้านเมือง พร้อมที่จะเสียสละชีวิต เพื่อปกป้องรักษา ชาติ ศาสนา ผืนแผ่นดินไทย และพิทักษ์ ราชบัลลังก์ และเพื่อให้ ประชาชนทุกคนได้ระลึกถึง คุณงามความดี ของบรรพชนไทยในอดีต ที่ท่านผู้กล้าหาญเหล่านั้น ได้พลีชีพ เข้าปกป้อง ชาติไทย และประชาชนคนไทยทั้งชาติ ให้ยังความเป็น เอกราช มาได้ตราบเท่าปัจจุบันนี้






                  สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงาน วันกองทัพไทย
เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงวีรกรรมของ วีรกษัตริย์ไทยรวมทั้งบรรพบุรุษไทยผู้กล้าหาญทั้งหลาย ที่ได้เสียสละชีวิตเลือดเนื้อเพื่อปกป้องรักษา ผืนแผ่นดินไทยให้ดำรงความเป็นชาติที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เป็นมรดกตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้




   







วันครู





 วันครู


แม้งานหนักเหน็ดเหนื่อยไม่เคยบ่น
สู้อดทนส่งเสริมศิษย์พิชิตฝัน
สู้อุตส่าห์สั่งสอนทุกวี่วัน
จิตมุ่งมั่นอบรมจริยา

หวังเห็นศิษย์ก้าวหน้าในชีวิต
โดยอุทิศแรงกายให้สมค่า
คำว่าครูผู้ที่ใช้ซึ่งปัญญา
แก้ปัญหานานาประการ

มีเมตตาปรานีเป็นที่ตั้ง
คอยเหนี่ยวรั้งศิษย์รักทุกสถาน
คอยชี้แนะช่วยเหลือและเจือจาน
ศิษย์จึงผ่านอุปสรรคทุกสิ่งไป

แม้งานหนักอย่างไรไม่เคยท้อ
เพียงแต่ขอศิษย์รักที่เติบใหญ่
มีวิชาความรู้ตลอดไป
เพื่อไว้ใช้เลี้ยงชีพสำหรับตน

ขอน้อมจิตวันทาบูชาครู
ขอเชิดชูปูชนีย์คุณมากล้น
ขอกตัญญูต่อครูทุกทุกคน
ขอกุศลแห่งความดีคุ้มครองครู ฯ




วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษา ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู ด้วยเหตุนี้ในทุก ๆ ปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัยสถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า“ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บันดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง” จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความคิดเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่น ๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นควรให้มีวันครูเพื่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกันประชาชน ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ ให้วันที่ ๑๖ มกราคมของทุกปีเป็น “วันครู” โดยเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นวันครูและให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้






 การจัดงานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน งานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ

          การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรม ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา ในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการจัดงานวันครู จะมีกิจกรรม ๓ ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้ 1. กิจกรรมทางศาสนา
2. พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์
3. กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬาหรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น

           ปัจจุบันการจัดงานวันครู ได้มีการกำหนดให้จัดพร้อมกันทั่งประเทศ สำหรับในส่วนกลางจัดที่หอประชุมคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการจัดงานวันครู ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ประกอบด้วยบุคคลหลายอาชีพร่วมกันเป็นผู้จัด สำหรับส่วนภูมิภาคมอบให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการจัดงานวันครูขึ้นเช่นเดียวกับส่วนกลางจะจัดรวมกันที่จังหวัดหรือแต่ละอำเภอก็ได้
          รูปแบบการจัดงานในส่วนกลาง (หอประชุมคุรุสภา) พิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการจัดงานวันครู พร้อมด้วยครูอาจารย์และประชาชนร่วมกันใส่บาตรพระสงฆ์ จำนวน ๑,๐๐๐ รูป หลังจากนั้นทุกคนที่มาร่วมงานจะเข้าร่วมพิธีในหอประชุมคุรุสภา นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเป็นประธานในงาน ดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ นายกรัฐมนตรีบูชาพระรัตนตรัย ประธานสงฆ์ให้ศีล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวรายงานต่อนายกรัฐมนตรี เสร็จแล้วพิธีบูชาบูรพาจารย์โดยครูอาวุโสนอกประจำการจะเป็นผู้กล่าวนำพิธีสวดคำฉันท์รำลึกถึงประคุณบูรพาจารย์












วันเด็กแห่งชาติ


วันเด็กแห่งชาติ

 มีต้นกำเนิดมาจากการที่องค์การสหประชาชาติทั่วโลกเกิดความตื่นตัว และเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะให้ความสำคัญแก่เด็ก ๆ โดยในปี พ.ศ. 2498 นายวี เอ็ม กุล ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิการเด็กระหว่างประเทศ ได้เป็นผู้เสนอต่อกรมประชาสงเคราะห์ ให้มีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญ และความต้องการของเด็ก รวมถึงเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ โดยปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม เตรียมพร้อมให้ตนเองเป็นกำลังของชาติ
ทั้งนี้ การขานรับกับการจัดงานวันเด็กแห่งชาติได้เป็นไปอย่างกว้างขวาง ในปีเดียวกันนั้นเองทั่วโลกไม่น้อยกว่า 40 ประเทศ จัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติของตนขึ้น โดยได้มีการกำหนดว่าจะถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ

         สำหรับประเทศไทย ได้ตอบรับข้อเสนอของนายวี เอ็ม กุลกานี ซึ่งบอกผ่านมาทางกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทยว่า ไทยควรจัดงานเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติ รัฐบาลจึงได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียน และนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
 อย่างไรก็ตาม งานวันเด็กแห่งชาติครั้งแรกของประเทศไทย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2498 จากนั้นเป็นต้นมา ราชการได้กำหนดวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นวันเด็กแห่งชาติ โดยจัดต่อเนื่องกันมาจนถึงปี 2506 ที่ประชุมคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติในปีนั้น ได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรที่จะเสนอเปลี่ยนวันจัดงานวันเด็กแห่งชาติเสียใหม่ ด้วยเหตุผลว่า เดือนตุลาคมสำหรับประเทศไทย เป็นเดือนที่ยังอยู่ในฤดูฝน มีฝนตกมาก เด็ก ๆ ไม่สะดวกในการเดินทางมาร่วมงาน นอกจากนี้วันจันทร์เป็นวันปฏิบัติงานของผู้ปกครอง จึงไม่สามารถพาเด็กของตนไปร่วมงานได้

         ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2507 ว่า ควรจะเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ที่มีความเหมาะสมและสะดวกมากกว่า ตามที่คณะกรรมการจัดงานวัดเด็กแห่งชาติเสนอมา ส่งผลให้ในปี 2507 ไม่มีงานวันเด็กแห่งชาติด้วยการประกาศเปลี่ยนได้เลยวันมาแล้ว งานวันเด็กแห่งชาติจึงเริ่มจัดขึ้นใหม่อีกครั้งในปี 2508 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน

 สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ที่รัฐบาลไทยกำหนดไว้ คือ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก สนใจในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก และช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กเป็นพิเศษ เพื่อให้เด็กและและเยาวชนยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตนและอยู่ในระเบียบวินัยอันดี และเพื่อเผยแพร่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของเด็ก

         นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า ทุก ๆ ปี ในวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะพระราชทานพระบรมราโชวาท สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงโปรดประทานพระคติธรรม และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีจะมอบคำขวัญวันเด็ก แสดงให้เห็นว่าเด็กเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุดของชาติ เราจึงได้ยินคำพูดอยู่บ่อย ๆ ว่า "เด็กคืออนาคตของชาติ เด็กฉลาด ชาติเจริญ"



กิจกรรมต่าง ๆ ที่ปฏิบัติในวันเด็กแห่งชาติ  ล้วนมีจุดประสงค์ไปในทางเดียวกัน คือ เพื่อให้เด็กได้ตระหนักถึงคุณค่าบทบาท และความสำคัญของตนเอง โดยการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้น ในโรงเรียน หมู่บ้าน หรือหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจัดขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกถิ่นจะมีขนมมากมาย มีคำเชื้อเชิญเพราะ ๆ มีคำอวยพรให้เด็กๆ เป็นวันที่เด็ก ๆ มีสิทธิพิเศษ ถนนทุกสาย เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ หรือร่วมกันทำกิจกรรม ในแต่ละชุมชนเพื่อเด็กๆ จัดบรรยากาศเพื่อเด็ก ๆ เพลงเด็ก ๆ ของขวัญเพื่อเด็ก ๆ ฯลฯ










วันกาชาดไทย

ประวัติกาชาดไทย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ก่อตั้งองค์กรการกุศล เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2436 (ร.ศ.112) ใช้ชื่อว่า "สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม" ดำเนินการช่วยเหลือทหารบาดเจ็บ ป่วยไข้จากการสู้รบ ทำหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ รักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยจากภัยสงครามและภัยพิบัติต่าง ๆ


ปีพุทธศักราช 2449 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ส่งผู้แทนไปร่วมประชุมกาชาดระหว่างประเทศ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อลงนามความตกลงเรื่องการใช้เครื่องหมายกาชาดช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในสนามรบ สภากอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม จึงได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า สภากาชาดสยาม โดยใช้เครื่องหมายกาชาดเป็นสัญลักษณ์
ปีพุทธศักราช 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงสืบทอดพระราชภารกิจของสภากาชาดสยามให้เจริญก้าวหน้าเช่นอารยประเทศ


ปีพุทธศักราช 2454 พระองค์ท่านได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ผู้แทนไปร่วมประชุมกาชาดระหว่างประเทศที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมลงนามความตกลงเรื่องกฏหมายคุ้มครองเครื่องหมายกาชาด (กฎหมายมนุษยธรรมระหว่งประเทศ IHL)
ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นอุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดสยาม บริหารงานของสภากาชาดให้เจริญก้าวหน้า ทรงมีพระราชโองการให้ประการพระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาชาดสยาม ปีพ.ศ.2461 และทรงนำสภากาชาดสยามเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์สภากาชาดฯ ในปีพ.ศ.2463 เป็นลำดับที่ 27 เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2464